บทความ - Hearts & Minds International Education

บทความ

นิวซีแลนด์

เกร็ดความรู้เรียนต่อ The University of Auckland กับ นาย Daring Do (ภาค 2)

รีวิว GSM Master Programme ของ The University of Auckland

สวัสดีครับ หลังจากที่หายไปจากตอนที่ 1 มายาวนาน (2 ปีเลยเนอะ) ผมก็ได้มีโอกาสกลับมาเขียนบทความนี้อีกครั้ง โดยสำหรับตอนนี้นั้นจะเป็นการแนะนำและรีวิวหลักสูตร GSM Master จาก The University of Auckland ซึ่งเป็นหลักสูตรปริญญาโทแบบคอร์สเวิร์ก หรือแบบเข้าห้องเรียน ในสายบริหารธุรกิจนะครับ

GSM
คืออะไร?
GSM ในที่นี้ย่อมาจาก Graduated School of Management หรือ บัณฑิตวิทยาลัยสาขาบริหารจัดการ (ไม่เกี่ยวข้องกับคลื่นวิทยุ GSM ที่ใช้กับโทรศัพท์มือถือรุ่นเก่าๆแต่อย่างใด) โดยแต่เดิมนั้น GSM จะเป็นหน่วยงานที่ดูแลหลักสูตร MBA และ หลักสูตรพิเศษอย่าง Executive Program ให้กับทางมหาวิทยาลัยโอ๊คแลนด์โดยเฉพาะ และไม่ได้ดูแลเกี่ยวกับหลักสูตรปริญญาโทอื่นๆเลย โดยในช่วงนั้นหลักสูตรปริญญาโททุกสาขาในสายธุรกิจจะถูกบริหารโดยทาง Business School โดยตรง และทุกหลักสูตรนั้นจะเป็นหลักสูตร Research Programmes หรือหลักสูตรที่เน้นการทำวิจัยทั้งหมด ไม่มีหลักสูตรที่เป็น Coursework เลย (ในช่วงเวลานั้นถ้าใครอยากจะเรียนหลักสูตร Coursework ในสายธุรกิจต้องเรียนที่ AUT แทน)


ในช่วงเวลาต่อมาราวๆปี 2013 ดูเหมือนทางมหาวิทยาลัยโอ๊คแลนด์จะต้องการแข่งขันกับมหาวิทยาลัยอื่นๆในให้ออสเตรเลียมากขึ้น รวมถึง AUT คู่แข่งในเมืองเดียวกันด้วย เลยได้มีการผลักดันหลักสูตร Master Degree รุปแบบใหม่ที่เน้นการเรียนในห้องเรียน และใช้ระบบการสอนแบบ MBA คือสอนเป็นแบบ Quarter เรียนเทอมละ 10 สัปดาห์ หรือ 3 เดือน แทน มี 4 เทอมต่อปี ซึ่งต่างจากหลักสูตรธรรมดาที่เป็นแบบ Semester หรือแบบ 2 เทอมต่อปี เทอมละ 5 – 6 เดือน ในช่วงเริ่มต้นนั้นมีการเปิดมา 3 สาขาคือ Management (บริหาร),International Business (ธุรกิจระหว่างประเทศ) และ Accounting (บัญชี) และกำลังจะมีเพิ่มมาคือ Marketing (การตลาด) และ Finance (การเงิน)

มีการเรียนการสอนอย่างไร?
หลักๆแล้วการเรียนของที่นี่จะแบ่งออกเป็น คลาส 3 ประเภท ในหนึ่งวิชา โดยจะมีคลาสดั่งต่อไปนี้
1. Lecture Lecture นั้นจะเป็นการนั่งฟังเลคเชอร์ในห้องเรียนขนาดยักษ์ โดยจะเป็นการรวมนักศึกษาจากทุกเซ็คมารวมกันเรียนในห้องเรียนกัน โดยมี Professor กับ ด๊อกเตอร์ที่เป็นอาจารย์หลักของวิชาเป็นผู้สอน โดยมากจะเป็นการสอนตามสไลด์ที่ให้มา ก็มีรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้างเพราะเวลามีจำกัดและเนื้อหาเยอะมาก เหมือนเป็นการเรียนเนื้อหาคร่าวๆสำหรับอาทิตย์นั้นๆเสียมากกว่า
2. Tutorial ในคาบ Tutorial นั้นจะเป็นการสอนโดย Tutor หรือผู้ช่วยของเหล่าโปรเฟสเซอร์ในวิชานั้นๆ โดยเหล่าผู้ช่วยนี้จะเป็นนักศึกษา ป.เอก กับอาจารย์ที่มีวัยวุฒิต่ำกว่าโปรเฟสเซอร์เป็นคนสอน โดยจะมีการแบ่งเป็นหลายเซ็คตามความสะดวกของนักศึกษาในวิชานั้นๆ เนื้อหาทั้งหมดก็จะมาเจาะลึกในส่วนนี้แหละ รวมทั้งการให้การบ้านต่างๆด้วยก็มักจะให้ในทิวทอเรียลคลาสเสียมากกว่า
3. Seminar ในคาบนี้จะเป็นการพูดคุยเรื่องปัญหาต่างๆในการเรียนหรือการทำการบ้าน จะมีการแนะนำข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการทำการบ้านหรืองานในอาทิตย์นั้นๆส่ง รวมไปถึงเรื่องเกี่ยวกับการจัดข้อมูลในหัว ปัญหาเรื่องภาษาที่จะใช้ในการเขียนงาน ปัญหาในการรายงานเป็นต้น โดยจะเป็นการสอนโดยตัวอาจารย์กับ Tutor โดยบ้างครั้งก็จะมีอาจารย์จากฝ่ายช่วยเหลือทางด้านภาษาอังกฤษเข้ามาพูดคุยปรึกษาปัญหาด้วย

จัดหลักสูตรการสอนอย่างไร?
หลักสูตรแบ่งออกเป็น 15 เดือน กับ 18 เดือน โดยหลักสูตรจะถูกแบ่งออกเป็น ดีกรี 3 รูปแบบ (ในปัจจุบัน ณ เวลาที่เขียน) ดังนี้
หลักสูตร 15 เดือน
1. Master of Management สำหรับตัวนี้ระยะการเรียนจะสั้นสุดคือแค่เพียง 15 เดือนเท่านั้น และจะมีการแบ่งเป็น 3 เอกย่อยคือ Business (ธุรกิจทั่วไป), Accounting (บัญชี) และ International Business (ธุรกิจระหว่างประเทศ)

หลักสูตร 18 เดือน
2. Master of Professional Accounting ตัวนี้จะเป็นตัวแรกที่เป็นหลักสูตร 18 เดือน โดยจะมีเทอมเพิ่มมามากกว่าปกติ 1 เทอม ซึ่งตัวหลักสูตรจะเน้นหนักด้านบัญชี และผู้ที่จบจากหลักสูตรจะมีสิทธิ์ในการเข้าสอบ CPA อีกด้วย

3. Master of International Business ตัวนี้ก็เป็นหลักสูตร 18 เดือนเหมือนกัน โดยตัวหลักสูตรไม่ใช่ด้านที่เน้นในเชิงปฏิบัติการ (ทำใบ P/O, FOB, L/C, ติดต่อ Agency) อย่างที่เข้าใจกัน แต่จะเป็นหลักสูตรที่เน้นไปในเชิงการค้นคว้า วางแผน และจัดทำ Business Model สำหรับการบุกตลาดใหม่ หรือสานต่อปรับปรุงธุรกิจสาขาในต่างประเทศ
ในระหว่างที่เขียนบทความนี้อยู่ ทาง GSM ก็มีแผนที่จะเพิ่มดีกรีมาอีก 2 ตัวคือ Master of Marketing (ด้านการตลาด) และ Master of International Finance (ด้านการเงิน) เพิ่มขึ้นมาด้วย

International Business เรียนอะไรบ้าง?
สำหรับในส่วนนี้จะเป็นการอธิบายว่า การเรียนในภาควิชาเอกด้านธุรกิจระหว่างประเทศที่มหาวิทยาลัยโอ๊คแลนด์นั้นมีเรียนอะไรบ้างโดยคร่าวๆ โดยการเรียนนั้นจะถูกแบ่งออกเป็น 4 ส่วนหลักๆ และ 1 ส่วนย่อย คือ
1. General studies (วิชาศึกษาทั่วไป) [2 เทอม] วิชาการศึกษาทั่วไปนั้นก็จะเป็นการเรียนความรู้ทั่วไปในเชิงธุรกิจ เช่น บัญชีพื้นฐาน, การใช้ Excel ออกแบบโมเดลทางธุรกิจ, การจัดการองค์กรพื้นฐาน, และเศรษฐศาสตร์สำหรับผู้จัดการ ซึ่งไม่ยากมาก แต่สำหรับคนที่ไม่เคยได้ใช้งาน Excel มาก่อนอาจจะกระอักกระอ่วนหน่อยนึง กับการที่ต้องมานั่งจำสูตรและอัลกอริทึ่มที่จะเอาไปใช้ในการคำนวณตารางใน Excel ดังนั้นแนะนำว่าขอให้เตรียมตัวไปให้พร้อมก่อน
หมายเหตุ: เกรดขั้นต่ำที่ต้องทำให้ได้ใน 2 เทอมแรกคือต้องออกมาโดยรวม B- หรือ 4.00 เต็ม 9 ตามมาตรฐานของมหาวิทยาลัยโอ๊คแลนด์ ถ้าไม่ผ่านจะโดนตัดจบเป็น Certificate ไป

2. Major papers (วิชาเอก) [2 เทอม] วิชาเอกก็จะเป็นการมุ่งเน้นในส่วนเอกต่างๆที่เราเลือกเรียนในช่วงก่อนที่จะเรียนจบ 2 เทอมแรก โดยสำหรับรุ่นแรกเรื่องที่เรียนนั้นก็จะเป็นเรื่อง ไฟแนนซ์ระหว่างประเทศ, การแข่งขันภายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก, สภาพแวดล้อมของธุรกิจระหว่างประเทศ, และ กลยุทธ์สำหรับธุรกิจระหว่างประเทศ ซึ่งการเรียนก็จะเป็นก่ำกึ่งระหว่างการเรียนตามตามรา Text book และ การเรียนรู้จากเคสทางธุรกิจ รวมไปถึงการทำงานแบบกลุ่มที่มีค่อนข้างมาก โดยจะเป็นการจับกลุ่มโดยอาจารย์ให้เราทำงานในกลุ่มที่ต่างกันออกไปในแต่ละวิชาเป็นการฝึกให้เราสามารถทำงานกับผู้คนได้อย่างหลากหลาย โดยงานจะเน้นไปที่การวิเคราะห์เคส และ การวางแผนธุรกิจหรือวิเคราะห์การตัดสินใจทางธุรกิจนั้นๆว่าการตัดสินใจนั้นมีความถูกต้องเหมาะสมหรือไม่

3. Capstone Project (โปรเจ็คจบ) [1 เทอม] โปรเจ็คนี้จะเป็นโปรเจ็คงานกลุ่ม โดยจะเป็นการรวมนักศึกษาจากทุกภาควิชามาจับกลุ่มรวมกันและทำแผนธุรกิจออกมานำเสนอที่หน้าชั้นโดยจะใช้เคสจากบริษัทที่มีอยู่จริงในนิวซีแลนด์และมีแผนที่จะออกไปบุกตลาดที่ต่างประเทศ โดยในปีที่ผมเรียนอยู่นั้นเป็นบริษัท ACG ซึ่งเป็นโรงเรียนประถมและมัธยมที่มีชื่อเสียงในนิวซีแลนด์ต้องการจะขยายตลาดไปที่ชิลี และ พม่า เลยกลายมาเป็นหน้าที่สำหรับเหล่านักศึกษาที่ต้องมาแข่งกันออกแบบแผนและโมเดลทางธุรกิจสำหรับการบุกตลาดใหม่นั้น โดยทีมที่ชนะเลิศ 2 – 3 ทีมจะได้เป็นตัวแทนไปนำเสนอจริงต่อตัวแทนบริษัท ACG
สำหรับนักศึกษาที่เลือกเรียนหลักสูตร 15 เดือน หลักสูตรจะจบลงที่นี่ แต่สำหรับคนที่เลือกเรียนหลักสูตร 18 เดือน ต้องทำเกรดรวมมาตั้งแต่ต้นให้อยู่ขั้นต่ำ B- ถึงจะผ่านไปเทอมต่อไปได้

4. Specialise(ตัวเสริม) [1 เทอม] สำหรับส่วนนี้นั้นจะเป็นตัววิชาที่เสริมขึ้นมาสำหรับผู้ที่เลือกเรียนหลักสูตร 18 เดือน โดยในช่วงที่เรียนนั้นจะมีการเรียนวิชาดั่งนี้คือ การทำวิจัยทางธุรกิจ, การดิสคัสถกเถียงเรื่องเคสพิเศษเกี่ยวกับธุรกิจระหว่างประเทศ, และ การฝึกงาน (หรือการทำวิจัย) ซึ่งการเพิ่มเติมของวิชาเหล่านี้เข้ามาทำให้การเรียนค่อนข้างเครียดและหนักกว่าการเรียนแบบ 15 เทอมอยู่มากพอสมควร ทั้งงานเขียนและงานพรีเซนต์จะเยอะมาก สำหรับการดิสคัสเคสทางธุรกิจนั้นจะมีเรียนทุกวันในช่วง 3 สัปดาห์แรกของเทอมสุดท้าย ส่วนการวิจัยทางธุรกิจจะเรียนอยู่ในเทอมเดียวกับการทำแคปสโตนซึ่งจะทำให้เป็นเทอมที่เรียนหนักและเหนื่อยมาก
หมายเหตุ: สำหรับการฝึกงานนั้น ที่นี่มหาวิทยาลัยไม่ได้จัดที่ฝึกงานให้เราแต่จะให้แค่ลิสท์ของบริษัทที่เข้ามาติดต่อว่าต้องการนักศึกษาฝึกงานกับทางอาจารย์ที่ปรึกษา แต่ที่เหลือนั้นเราต้องทำการติดต่อกับทางบริษัทเพื่อสัมภาษณ์และพูดคุยถึงโปรเจ็คที่บริษัทต้องการจะทำนะครับ โดยเป็นการฝึกงานแบบ Unpaid (ไม่มีการจ่ายค่าแรง) และการฝึกงานของหลักสูตรนี้เป็นแบบ Unguaranteed Placement (ไม่รับประกันว่าเราจะได้เข้าฝึก) ถ้าเราพลาดในการเข้าสัมภาษณ์, ติดต่อบริษัทไม่ทันการ, หรือบริษัทถอนตัวไปก่อน เราก็จะอดฝึกงานและจะถูกบังคับให้ทำโปรเจ็คจบแทน (ผมพลาดตรงนี้มาแล้วเป็นอะไรที่เรียกได้ว่าน่าเจ็บใจมากเพราะหลุดจากที่คาดหวังไปมาก) ตอนนี้ทำได้เพียงหวังว่ามหาลัยและทาง GSM ในครั้งหน้าจะมีการล็อบบี้การันตีว่านักศึกษาทุกคนจะได้รับการฝึกงาน

5. Professional Development (วิชาส่งเสริมความเป็นมืออาชีพ) [แทรกอยู่ในเทอม 1 – 4] การเรียนในวิชานี้เป็นตัวที่เสริมมาในหลักสูตร Master ของทาง UOA โดยจะเป็นการเสริมทักษะในการทำงานเช่น การสร้างโปรไฟล์ตัวเอง, การทำงานเป็นกลุ่มที่มีการเฉลี่ยความรับผิดชอบและมีความเป็นมืออาชีพ, ทักษะการเขียนต่างๆ,mindset ทางธุรกิจแบบต่างๆเป็นต้น

แนะนำหลักสูตรแบบไหน?
โดยความเห็นส่วนตัวแล้วผมเห็นว่าหลักสูตร 15 เดือนนั้นถือว่าคุ้มค่ากว่าเพราะราคาไม่ได้แพงมหาโหดมากจนเกินไป และความรู้ของช่วง 15 เดือนนั้นสามารถนำมาใช้งานได้แล้ว และ ไม่เป็นการกดดันตัวเองที่มากจนเกินไป เพราะถ้าลงตัว 18 เดือน เทอมท้ายๆจะค่อนข้างหนักมากเพราะเรียนหนักกว่าชาวบ้านชาวช่องที่ลงเรียนหลักสูตร 15 เดือน จากวิชาที่เพิ่มขึ้นมาจนตารางอัดแน่น อีกทั้งการเรียน 18 เดือนนั้นไม่ได้รับประกันว่าเราจะประสบความสำเร็จเหนือกว่าคนที่เรียน 15 เดือนแต่อย่างใด กอรปกับทางเลือกในการเรียนสำหรับหลักสูตร 15 เดือนนั้นมากหลากหลายกว่าด้วย สามารถเลือกตามความเหมาะสมได้มากกว่าด้วย 

ข่าวสารทั้งหมด
ข่าวสารอื่นๆ

FAQ คำถามที่พบบ่อย

อ่านต่อ

น้องทรายกับประสบการณ์การเรียนภาษาที่ ELA (ศูนย์ภาษาของมหาวิทยาลัย University of Auckland)

อ่านต่อ

การเลือกโรงเรียนมัธยมในประเทศนิวซีแลนด์

อ่านต่อ
คำสงวนลิขสิทธิ์ (Copyright)

เนื้อหาในเว็บไซต์นี้ รวมถึงข้อมูลทั้งหมด เช่น ข้อความ กราฟิก รูปภาพ ภาพถ่าย และเสียง ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 และถือเป็นลิขสิทธิ์ของบริษัทฮาร์ทส์ แอนด์ มายส์ อินเตอร์เนชั่นนอล เอ็ดดูเคชั่น จำกัด ห้ามคัดลอก เปลี่ยนแปลง ทําซ้ำ จัดเก็บในระบบสืบค้นหรือส่งผ่านเนื้อหาในเว็บไซต์นี้หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของเนื้อหา เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากทางบริษัทฯ

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “Cookies Policy” และสามารถเลือกตั้งค่ายินยอมการใช้คุกกี้ได้โดยคลิก “Accept