บทความ - Hearts & Minds International Education

บทความ

นิวซีแลนด์

เกร็ดความรู้เรียนต่อ Master of International Business ที่ University of Auckland กับ นาย Daring Do

สวัสดีครับ ผม Daring Do วันนี้ผมจะมาเล่าประสบการณ์การเรียนต่อนิวซีแลนด์ให้ทุกคนได้อ่านเป็นความรู้สำหรับทุกคนที่สนใจครับ ในเวลาที่ผมเขียนบทความนี้อยู่ผมพึ่งจะเรียนจบ Quarter 1 ของ Business School (คณะบริหารธุรกิจ) ของ University of Auckland ในสาขาวิชา Master of International Business (มหาบัณฑิตสาขาธุรกิจระหว่างประเทศ [ปริญญาโท]) ซึ่งในส่วนที่ผมเรียนอยู่นั้นไม่ได้ถูกดูแลและบริหารโดย Business School ส่วนหลัก แต่อยู่ภายใต้การบริหารของส่วนดิวิชั่นย่อย คือ Graduate School of Management ซึ่งเป็นส่วนที่ดูแลคอร์สพวก MBA ซึ่งส่วนนี้จะขอเก็บไว้ในบทถัดไปนะครับ

                สำหรับบทความนี้จะเน้นเรื่องหลักการในการเลือกที่เรียนเป็นหลักเพราะว่ารายละเอียดจริงๆเยอะมากครับ เลยคัดมาเฉพาะที่จำเป็น และเนื่องจากผมเรียนในระดับ ป.โท บทความนี้จึงเขียนสำหรับคนที่อยากศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยเป็นหลักนะครับ

ทำไมถึงมาเรียนต่อที่นิวซีแลนด์

                ตอนที่ตัดสินใจมาเรียนต่อ ป.โท ที่นิวซีแลนด์ แทนที่จะเป็นที่ออสเตรเลียตามเป้าหมายเดิม (ตอนแรกผมเรียนภาษาที่ออสเตรเลียครับ) หรือ อังกฤษ หลายคนแย้งผมว่า มาเรียนที่นี่ทำไม ที่นี่มีชื่อเสียงด้าน High School แต่ถ้าจะเรียน ปริญญาต้องไปที่ ออสเตรเลีย ไม่ก็ UK/USA สิ แต่ถึงกระนั้นผมก็เชื่อมั่นในข้อมูลค้นคว้าของผม ซึ่งจะขอแนะนำแบบ Step-By-Step ต่อจากนี้นะครับ

                การจะเลือกมาเรียนที่ใดที่หนึ่งเราต้องถามตัวเองก่อนว่า

1.มาเรียนเพราะอะไร

2.มีเป้าหมายหลังเรียนจบอย่างไร

3.สิทธิพิเศษหลังเรียนจบมีไหม

ซึ่งก่อนจะตัดสินใจนั้นต้องถามใจตัวเองให้ถี่ถ้วนก่อน เพราะการเรียนต่างประเทศไม่ใช่เรื่องโก้หรูอย่างที่หนัง – ละครสร้างภาพให้เราได้เห็นกัน แต่เป็นการลงทุนทั้ง เงินทุน เวลา กำลังสมอง และ สภาพร่างกายและจิตใจ ที่ต้องมีความอดทนและเป้าหมายอันแน่วแน่ ถึงจะไปถึงจุดหมายได้ ดังนั้นก่อนจะตกลงปลงใจขอให้คิดไตร่ตรองให้ถี่ถ้วนก่อน

                ต่อมาหลังตัดสินใจได้แล้ว ก็มาเลือกดูประเทศว่า แต่ละประเทศนั้นตรงสเป็คเราไหม ซึ่งในตารางเปรียบเทียบที่ให้ไว้ตรงนี้จะเป็นการเปรียบเทียบประเทศพัฒนาแล้วที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักใหญ่ๆ 5 ประเทศ คือ New Zealand / Australia / Canada / UK  / USA ซึ่งจะเป็นการเปรียบเทียบอย่างคร่าวๆจากข้อมูลที่มีอยู่ในหัวผมอยู่แล้ว ไม่ได้เทียบข้อมูลสถิติซึ่งอาจจะไม่แม่นยำเท่าไหร่

ประเทศ

NZ

AUS

Canada

UK

US

จำนวนประชากร

4ล้าน

23 ล้าน

35 ล้าน

63 ล้าน

317 ล้าน

จำนวนมหาวิทยาลัย

8 แห่ง

ราวๆ 20 กว่าแห่ง

หลายสิบแห่ง

หลายสิบแห่ง

นับร้อยแห่ง

ระดับอาชญากร

ต่ำ

ต่ำ

ต่ำ

กลาง

สูง

ขนาดเศรษฐกิจ

เล็ก

กลาง

กลาง

ใหญ่

ใหญ่มาก

โอกาสทำงานพิเศษ

20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ / ไม่จำกัดในช่วง Summer

40 ชั่วโมงต่อ 2 สัปดาห์ / ไม่จำกัดช่วง Summer

ไม่อนุญาต

20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

ไม่อนุญาต ต้องดำเนินการขออนุมัติภายหลัง

วีซ่าทำงานหลังเรียนจบ

2ปี หลังเรียนจบ สำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัย

2ปี หลังเรียนจบ สำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัย

2ปี หลังเรียนจบ สำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัย

ไม่มี

ไม่มี

โอกาสได้วีซ่าถาวร

สูง

กลาง – ต่ำ

สูง

ต่ำ

ต่ำ

อัตราแลกเปลี่ยน (12/2013)

26 บาท

30บาท

30 บาท

52 บาท

32 บาท

 

                ในส่วนนี้อาจจะสงสัยว่า จำนวนมหาวิทยาลัยเกี่ยวข้องอะไรด้วย ที่รวมมาด้วยเพราะว่า ยิ่งมหาวิทยาลัยยิ่งเยอะยิ่งคัดกรองยากครับว่ามหาวิทยาลัยไหนคุณภาพดีไม่ดี อย่าง UK กับ USA นั้นมหาวิทยาลัยเยอะมาก เกรดก็มีตั้งแต่ สุดยอดเหนือมนุษย์เท่านั้นที่เข้าได้ ไปจนถึง มหาวิทยาลัยห้องแถวที่ไม่มีแม้แต่ตึก และไม่ได้รับการรับรอง ซึ่งเป็นปัญหาที่ยังแก้ไขไม่ตกของรัฐบาลและหน่วยงานดูแลด้านการศึกษาทั้งหลายในประเทศเหล่านั้นเลยทีเดียวครับ

                ส่วนตรงนี้เมื่อเทียบข้อดีข้อด้อยแล้วผมเลยเลือกนิวซีแลนด์ เพราะ เทียบข้อดีข้อด้อยแล้ว ข้อดีสูงกว่า เช่น มหาวิทยาลัยน้อยเลือกง่าย ทำงานพิเศษได้ด้วย มีวีซ่าทำงานหลังเรียนจบ โอกาสได้วีซ่าถาวรค่อนข้างสูง เพราะว่าประเทศนั้นมีปัญหาสมองไหลที่ปัญญาชนหนีไปทำงานที่อื่นกันหมด เลยต้องการกำลังจากนักศึกษาปัญญาชนชาวต่างชาติมาร่วมพัฒนาประเทศ สร้างเศรษฐกิจให้รุ่งโรจน์แบบพี่น้องฝาแฝดอย่างออสเตรเลีย เลยถือเป็นประโยชน์ที่เรามองข้ามไม่ได้เลยครับ

เลือกที่เรียนอย่างไร

 

Ranking
(อันดับมหาวิทยาลัย)

มีชื่อเสียงมากแค่ไหนในเวทีโลก ซึ่งจะมีผลต่อ Connection ทีเราจะได้รับ รวมถึงโอกาสทำงานในที่ต่างๆในโลกด้วย สามารถค้นคว้าได้จากหนังสือจัดอันดับต่างๆ เช่น Times Higher Education Ranking เป็นต้น

Accreditation
(การรับรองคุณภาพ)

ได้รับการรับรองจากสำนักไหนบ้าง ซึ่งจะเป็นตัวรับประกันคุณภาพการเรียนการสอนในสถาบันนั้นๆ ส่วนมากจะไม่ได้รับรองสถาบันเป็นมวลรวม แต่มักจะกระจายอยู่ตามคณะต่างๆ

Entry Requirement

(เกณฑ์การเข้า)

เกณฑ์การเข้ายากง่ายแค่ไหน ส่วนมากสถานศึกษาดังๆมักจะมีเกณฑ์การเข้าที่ยาก ถึง ยากมากๆ เพราะมีแต่คนเก่งๆไปสมัคร ซึ่งถ้ามั่นใจจะลองก็ไม่ผิด แต่เราต้องรู้ถึงศักยภาพและขีดจำกัดของเราเองเสียก่อน

Professional Personnel
(บุคลากร)

ส่วนนี้เสริมเข้ามา เพราะบางทีมหาวิทยาลัยที่เลือกอาจจะดังน้อยกว่า แต่มีศาสตราจารย์ดังๆในสาขาที่เราอยากเข้าทำงานอยู่ ก็ไม่ควรมองข้าม

Facilities and Service
(สิ่งอำนวยความสะดวก และ บริการ)

เนื่องจากเราต้องอยู่กับสถาบันอีกนาน ดังนั้นเราต้องใช้ประโยชน์จากสิทธินักเรียนให้มากสุด ดังนั้น สถาบันที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่นักศึกษาใช้ได้ฟรีหรือจ่ายถูกกว่า อย่างศูนย์คอมคุณภาพดี ห้องสมุด โรงยิมส์ ควรจะนำมาพิจารณายิ่ง ส่วนบริการนั้นเนื่องจากเราเป็นนักศึกษาต่างชาติ การสนับสนุนที่ดีจากมหาวิทยาลัยจะทำให้ชีวิตต่างแดนง่ายขึ้นและน่ากลัวน้อยลง

Location
(สถานที่ตั้ง)

เริ่มจากดูว่าตั้งอยู่ที่ไหน เมืองอะไร ถ้าเป็นเมืองใหญ่อย่างเมืองหลวง หรือ ศูนย์กลางเศรษฐกิจ เช่นพวก Auckland, Sydney, London, New York คนจะเยอะวุ่นวาย ค่าครองชีพจะแพงหน่อย แต่เหมาะสำหรับคนที่ชอบชีวิตแนว City Life
แต่ถ้าชอบชนบท ก็สามารถอยู่เมืองอย่าง Palmerson North, Hamilton, Dunedin หรือไกลปืนเที่ยงกลางทะเลทรายในออสเตรเลีย อย่าง Kalgoorie กับ Bendigo ยังได้

Tuition Fees
(ค่าเล่าเรียน)

แต่ละคณะ มหาวิทยาลัย ล้วนไม่เท่ากัน แม้แต่ในคณะเดียวต่างหลักสูตร ค่าเรียนก็ต่างกัน ต้องพิจารณาให้ดี เปรียบเทียบอัตราแลกเปลี่ยน สอบถามกับทางมหาวิทยาลัย แล้วสำรวจเงินในบัญชี หรือถามผู้ปกครองเสียก่อนว่าไหวไหม (หมายเหตุ : ต้องเตรียมค่าความเสี่ยงไว้ด้วยเพราะค่าเทอมมักประกาศขึ้นทุกปี หรือ 2 ปีครั้ง)

 

เกณฑ์การรับ ไหวหรือไม่

            หลังจากที่เลือกมหาวิทยาลัยกับคณะได้แล้ว ก็มาดูเกณฑ์การเข้าของมหาวิทยาลัยกันว่าไหวหรือไม่ ซึ่งส่วนตรงนี้อาจจะมีครบตามนี้ หรือมากกว่านี้แล้วแต่มหาวิทยาลัย แต่ส่วนที่ยกมานี้คือส่วนที่ใช้งานหลักๆ

เกรดเฉลี่ย
(GPA)

เกรดจากที่เรียนจบ ป.ตรี ถ้าเป็น มหาวิทยาลัย Rank ต่ำๆ เกรด 2 ต้นๆก็สามารถเข้าได้แล้ว ถ้าเป็นมหาวิทยาลัยที่ Rankค่อนข้างสูง มักจะรับเกรด 2.5 – 3 ขึ้นไป

คณะที่เคยจบมา
(Prerequisite)

บางคณะหรือภาควิชา จะรับคนที่จบมาจากคณะเดียวกันเท่านั้น เช่น วิศวะ รับจบจาก วิศวะ เท่านั้น

ผลสอบภาษาอังกฤษ

 

มักจะมีตัวเลือกให้ 2 ตัวเลือกที่ค่อนข้างหาสอบได้ง่ายในไทยคือ IELTS และ TOEFL ระดับมหาวิทยาลัยมักจะรับ 6.5 และทุกแบนด์ขั้นต่ำ 6 ขึ้นไป สำหรับ IELTS ถ้าผลสอบน้อยกว่านิดหน่อยมหาวิทยาลัยมักจะเสนอคอร์สภาษาอังกฤษ Direct Entry ให้ (แต่ถ้าเป็นมหาวิทยาลัยดังมากๆมักจะไม่มีคอร์สพวกนี้ให้ ต้องลุ้นผลสอบกันเอาเอง)

ผลสอบอื่นๆ

บางครั้งคณะที่เราต้องการเข้าอาจจะรีเควสผลสอบอย่างอื่นมาด้วย เช่น GMAT, GRE (ข้อสอบเหล่านี้ค่อนข้างยากมาก และตอบผิดมีลบคะแนนด้วย เตรียมตัวกันให้ดีๆ)

พอร์ตผลงาน

บางคณะบางภาควิชา เช่น ภาควิชาการแสดง หรือ สาย มีเดีย มักจะต้องการพอร์ตผลงานที่เราเคยทำมาในช่วงที่ผ่านมามาใช้ในการพิจารณาด้วย

ค่าเล่าเรียน

ที่นำมารวมไว้ที่นี่ด้วยเพราะ สถาบันมักจะคิดค่าเรียนนักเรียนต่างชาติแพงกว่านักเรียนในประเทศถึง 2 หรือ 3 เท่า อย่างคณะที่ผมเรียนเก็บนักเรียนต่างชาติถึง 6หมื่นดอล ขณะที่ นักรียนในประเทศเก็บเพียง 2 หมื่นดอลเท่านั้น ยังไม่รวมค่าครองชีพและค่าเช่าหอพัก ต้องพิจารณาให้ดีด้วยว่าพร้อมหรือไม่

 

เท่านี้น่าจะเพียงพอสำหรับการเลือกประเทศ มหาวิทยาลัย และ คณะแล้วนะครับ พบกันตอนหน้ากับการ Review หลักสูตร Job Ready Master Degree ของ University of Auckland คณะบริหารธุรกิจของมหาวิทยาลัยที่ผมเรียนอยู่นะครับ

ข่าวสารทั้งหมด
ข่าวสารอื่นๆ

ทำความเข้าใจเรื่องโฮมสเตย์

อ่านต่อ

FAQ คำถามที่พบบ่อย

อ่านต่อ

ที่พักในนิวซีแลนด์

อ่านต่อ
คำสงวนลิขสิทธิ์ (Copyright)

เนื้อหาในเว็บไซต์นี้ รวมถึงข้อมูลทั้งหมด เช่น ข้อความ กราฟิก รูปภาพ ภาพถ่าย และเสียง ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 และถือเป็นลิขสิทธิ์ของบริษัทฮาร์ทส์ แอนด์ มายส์ อินเตอร์เนชั่นนอล เอ็ดดูเคชั่น จำกัด ห้ามคัดลอก เปลี่ยนแปลง ทําซ้ำ จัดเก็บในระบบสืบค้นหรือส่งผ่านเนื้อหาในเว็บไซต์นี้หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของเนื้อหา เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากทางบริษัทฯ

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ “Cookies Policy” และสามารถเลือกตั้งค่ายินยอมการใช้คุกกี้ได้โดยคลิก “Accept